การใช้รถอย่างถูกต้อง และดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

Last updated: 17 มิ.ย. 2566  |  6393 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การใช้รถอย่างถูกต้อง และดูแลรักษาอย่างถูกวิธี




การใช้รถอย่างถูกต้อง และดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

ช่วยให้ประหยัดและยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น

พฤติกรรมผิดๆ ของผู้ใช้รถ ซึ่งอาจส่งผลเสียกับรถยนต์ทันที หรือแสดงผลในภายหลัง

ผิด 1. "สตาร์ทแล้วออกรถได้เลยไม่ต้องอุ่นเครื่อง"
ถูก...อุ่นเครื่องยนต์สักหน่อยก่อนออกรถจะดีกว่า

เมื่อเครื่องยนต์ทำงานขณะที่ยัง "เย็น" อยู่ เช่น ขณะออกรถจากบ้านไปทำงานตอนเช้า

หรือติดเครื่องยนต์เมื่องานเลิกเพื่อกลับบ้าน ไอของเชื้อเพลิงที่เข้มข้นจะเกาะผนังกระบอกสูบ

และละลายปนกับฟีล์มน้ำมันเครื่องที่ฉาบผนังอยู่ ทำให้การหล่อลื่นแหวนลูกสูบกับผนังกระบอกสูบไม่เพียงพอ สร้างความสึกหรอในเครื่องยนต์มากกว่าปกติ

นอกจากนี้ทั้งเชื้อเพลิงที่ระเหยไม่หมด และไอน้ำที่เกิดจากการเผาไหม้ขณะเครื่องยังเย็นนี้

ยังละลายปนอยู่ในน้ำมันเครื่อง ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพเร็วขึ้นอีกด้วย

ผิด 2. "รถใหม่สมัยนี้ ไม่ต้อง รันอิน"
ถูก...รถใหม่ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ต้องรันอิน

รถรุ่นใหม่ๆ แม้จะมีการควบคุมคุณภาพอย่างดีแล้วก็ตาม แต่เครื่องยนต์ใหม่ควรต้องผ่านการรันอิน

และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสักครั้งก่อนที่จะใช้งานอย่างเต็มที่ เพราะเศษโลหะที่ตกค้างอยู่ในระบบจะได้ถูกชะล้างออกไป

การรันอินนั้นทำได้ไม่ยาก โดยในช่วง 1,000 กม. แรก ไม่เร่งเครื่องยนต์อย่างรุนแรง

หรือใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูงมากๆ ถ้าใช้รอบเครื่องไม่เกิน 3,000 รตน. ได้ก็จะดี

และเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะที่ผู้ผลิตกำหนด พูดถึงเรื่องนี้ เคยมีผู้ใช้รถบางคน

ไม่นำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเชค โดยให้เหตุผลว่า เสียเวลา เปลี่ยนน้ำมันเครื่องทำที่ไหนก็ได้

อย่างนี้ "น่าเสียดาย" แทนจริงๆ เพราะถ้าเกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์จะเรียกร้องเอากับใคร

ผิด 3. "ยกขาก้านปัดน้ำฝนขณะจอดช่วยยืดอายุใบปัด"
ถูก...สปริงในก้านที่ปัดน้ำฝนจะอ่อน และเสียเร็วขึ้น

ส่วนสำคัญที่ทำให้ที่ปัดน้ำฝนทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพประกอบด้วย ใบปัด

แผ่นยางซึ่งทำหน้าที่รีดน้ำจากกระจกบังลมหน้า ปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี

หากใช้นานกว่านั้นเนื้อยางจะแข็งตัวหรือมีการฉีกขาด ไม่ว่าจะยกไว้หรือไม่ก็ตาม

อีกส่วนคือ ก้านใบปัด ที่มีสปริงคอยดึงให้ใบปัดแนบสนิทกับกระจก ซึ่งรับแรงจากคันโยก และมอเตอร์

ตัวนี้มีราคาสูงกว่าใบปัด การยกก้านเมื่อจอดตากแดด สปริงจะถูกดึงให้ยืดออกตลอดเวลา

อายุการใช้งานสั้นลง ทำให้ต้องจ่ายแพงกว่าเดิมหลายเท่าถ้าต้องเปลี่ยนทั้งชุด

ผิด 4. "รถติดไฟแดงค้างเกียร์ D ไว้ดีกว่าเปลี่ยนเกียร์ว่าง"
ถูก...หยุดรถก็โอเค แต่ถ้าติดไฟแดงนานก็ต้องระวังชนคันหน้า

ในกรณีรถติดไฟแดง ผู้ขับรถที่ใช้เกียร์ธรรมดาจะปลดเกียร์ว่าง และเหยียบเบรคป้องกันรถไหล

คงจะไม่มีใครเหยียบคลัทช์ และเบรค ใส่เกียร์คาไว้ ให้เมื้อยขา ขณะที่ผู้ขับรถเกียร์อัตโนมัติ

กลับมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน กลุ่มแรก เหยียบเบรคโดยค้างเกียร์ไว้ที่ตำแหน่ง "D" กลุ่มที่ 2

เบรคเหมือนกัน แต่เลื่อนตำแหน่งคันเกียร์มาที่เกียร์ว่าง "N" กลุ่มสุดท้าย ดันคันเกียร์มาอยู่ที่ "P"

ไม่เหยียบเบรค

ถ้าติดไฟแดงนานๆ กลุ่มแรก ต้องระวังมากที่สุด เพราะถ้าขยับตัวแล้วเท้าหลุดจากแป้นเบรค

รถอาจพุ่งไปชนคันหน้า กลุ่มที่ 2 เบาหน่อยแค่เมื่อย ส่วนกลุ่มสุดท้าย สบายใจได้

แต่อาจจะไม่สะดวกกับการใช้งาน วิธีดีที่สุด คือ ใช้เกียร์ว่าง และดึงเบรคมือ

ผิด 5. "เดินทางไกลลมยางอ่อนดีกว่าแข็ง"
ถูก...ลมน้อย ยางมีโอกาสระเบิดได้มาก

คู่มือการใช้และดูแลรักษายางรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายไหน ก็แนะนำตรงกันว่า

ผู้ใช้รถควรเติมลมยางตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดไว้ และให้เพิ่มแรงดันลมยางให้สูงขึ้นอีก 2-

3 ปอนด์ เมื่อต้องเดินทางไกล

ลมยางที่อ่อนกว่ามาตรฐานกำหนด นอกจากจะทำให้หน้ายางด้านนอกสึกมากกว่าด้านในแล้ว

ยังอาจส่งผลเสียกับโครงสร้างยางได้ และมีโอกาสเกิด "ยางระเบิด"

มากกว่าหรือใกล้เคียงกับยางที่มีแรงดันลมยางเกินกำหนด

เพราะอุณหภูมิความร้อนที่เกิดจากการเสียดสี

ผิด 6. "ฝนตกใส่ขับ 4 ล้อเกาะกว่า...2 ล้อ"
ถูก...อย่าใช้ระบบขับเคลื่อนผิดประเภท จะได้ไม่ต้องเสียใจ

ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อนั้นอาจจะช่วยให้รถเกาะถนนมากกว่าระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ

แต่สำหรับรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบพาร์ทไทม์หรือ "ตามต้องการ" ในรถพิคอัพ หรือพีพีวี

ที่มีชุดส่งกำลังแยกเพื่อส่งกำลังไปยังล้อหน้า กำลังจากล้อหลังจะถูกแบ่งมายังล้อหน้า อาการท้ายปัด

หรือล้อหลังฟรีก็จะน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกาะถนนดี เมื่อต้องเลี้ยวในความเร็วสูง

ล้อหน้าที่ถูกลอคให้หมุนจะเลี้ยวได้น้อยลง ทำให้ต้องใช้วงเลี้ยวที่กว้างขึ้น

จึงมีรถประเภทนี้หลุดโค้งให้เห็นกันเป็นประจำ

ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบพาร์ทไทม์มีไว้เพื่อช่วยให้รถสามารถผ่านทางทุรกันดานได้ง่ายขึ้น

ต่างกับพวกที่เป็นฟูลล์ไทม์หรือ "ตลอดเวลา" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการยึดเกาะถนน

ผิด 7. "ตั้งศูนย์ล้อหน้าอย่างเดียวก็พอ"
ถูก...ทุกล้อมีความสำคัญ ตั้งศูนย์ล้อควรทำทั้ง 4 ล้อ

เชื่อหรือไม่ว่า ศูนย์ล้อหลังมีความสำคัญพอๆ กับศูนย์ล้อหน้า หรืออาจจะมากกว่า

เพราะมุมที่ล้อหลังเอียงไปเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้รถเสียสมดุลเมื่อเบรค หรือเลี้ยว

และทำให้รถเลี้ยวไปมากกว่าที่คิด

รถยนต์ส่วนใหญ่จะปรับตั้งศูนย์ล้อได้หน้า/หลัง ยกเว้นรถขับเคลื่อนหน้าบางรุ่นที่ปรับได้แต่เฉพาะล้อหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตั้งศูนย์ล้อหลัง ก็ต้องทำใจ


ผิด 8. "ต้องเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินเวลาข้ามแยก"
ถูก...เวลาข้ามแยก รอให้รถว่าง และไม่ควรเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน

ถ้าคุณเปิดไฟฉุกเฉิน รถทั้งด้านซ้าย/ขวา ต่างก็จะเห็นสัญญาณไฟเลี้ยวเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

รถทางขวาอาจจะจอดให้ไป แต่สำหรับทางซ้ายอาจคิดว่าคุณจะเลี้ยวซ้ายจึงไม่หยุดให้ อุบัติเหตุ

จึงเกิดขึ้น ด้วยความเข้าใจผิด จากการใช้สัญญาณไฟแบบผิดที่...ผิดทาง

ผิด 9. "ฝนตกหนัก หรือหมอกลงจัดต้องเปิดไฟฉุกเฉิน"
ถูก...อาจสร้างความสับสนให้ผู้ร่วมทาง ไฟฉุกเฉินใช้เวลาจอดฉุกเฉิน

ในสภาพอากาศที่ไม่ดี และมีทัศนวิสัยแย่มาก จนมองแทบไม่เห็นรถคันหน้า การชะลอความเร็ว

เปิดไฟหน้า และทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ควรทำ

แต่การใช้สัญญาณไฟฉุกเฉิน ทำให้ที่วิ่งสวนทางมาเข้าใจผิดคิดว่ามีรถจอดเสียอยู่ทางซ้ายริมถนน

และหักหลบไปทางขวา ซึ่งเป็นไหลทาง กว่าจะเห็นอาจจะสายเกินไป ไม่ลงไปข้างทางก็อาจพุ่งข้ามช่องทางมาชน หรือถ้าหยุดรถก็ขวางทาง และเกิดอุบัติเหตุ

การใช้ สัญญาณไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมาก ควรใช้เฉพาะเวลาที่รถเสีย และต้องจอดอยู่ริมถนน

เพื่อบอกให้เพื่อนร่วมทางที่สัญจรผ่านไปมา ใช้ความระมัดระวัง และชะลอความเร็วในจุดที่รถจอดเสียอยู่

ผิด 10. "ผ้าเบรคแข็ง หรือ ผ้าเบรคเนื้อแข็ง ไม่ดี"
ถูก...ไม่แน่เสมอไป ขึ้นอยู่กับความต้องการ

ความเข้าใจผิดๆ เรื่อง "ผ้าเบรค" ที่ว่าผ้าเบรคอ่อนดีกว่าแข็ง

เกิดจากบรรดาช่างซ่อมรถที่ไม่ได้อธิบายให้เจ้าของรถเข้าใจ

การผสมเนื้อผ้าเบรคให้ใช้งานได้ดี เป็นศาสตร์ชั้นสูง ใช้วัสดุนานาชนิด และมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน

ซึ่งจะมีผลต่อคุณสมบัติของผ้าเบรค และมักจะขัดแย้งกันเอง ถ้าเน้นข้อดีข้อใดขึ้นมา

ก็มักจะมีข้ออื่นด้อยลงไป เช่น การใช้ส่วนผสมที่เบรคหยุดดี ก็จะกินเนื้อจานเบรคมาก หรือร้อนจัด

หรือไม่เนื้อผ้าเบรคก็สึกเร็ว พอทำให้สึกช้า ก็แข็ง เบรคไม่ค่อยอยู่ หรือมีเสียงรบกวน ส่วนผ้าเบรค

"เนื้ออ่อน" ที่มีจุดเด่นเรื่องไม่กัดกินเนื้อจานเบรค ก็จะมีข้อด้อยตรงจุดอื่น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้