รู้หรือไม่!! ยางหุ้มเพลา..ถ้าปล่อยให้ขาดอาจเป็นเรื่อง จากสำนักแต่งรถGODTOWA

Last updated: 17 มิ.ย. 2566  |  13753 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้หรือไม่!! ยางหุ้มเพลา..ถ้าปล่อยให้ขาดอาจเป็นเรื่อง จากสำนักแต่งรถGODTOWA

เพลาขับ อุปกรณ์สำคัญในการถ่ายทอดพละกำลังที่สำคัญยิ่ง  โดยเฉพาะกับรถที่ขับเคลื่อนล้อหน้าที่นอกจากจะรับหน้าที่ผลักดันให้ล้อและยางหมุนเพื่อเคลื่อนตัวแล้ว ยังต้องรองรับการหักเลี้ยวของล้อคู่หน้า  และยืดหดได้ตามการยุบตัวของล้อด้วย ยังผลให้หัวเพลาขับต้องรับภาระที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสไม่น้อย  หัวเพลาขับจึงเป็นอะไรที่ต้องการการใส่ใจและปกป้องเป็นพิเศษ   เพราะค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนหัวเพลานั้นไม่น้อยเลย

เกือบทั้งหมดของรถขับเคลื่อนล้อหน้า   จะเป็นหัวเพลาแบบข้อต่ออ่อนแบบความเร็วคงที่ หรือที่นิยมเรียกกันว่า CV (Constant Velocity) Joint ซึ่งความเร็วของล้อเพลาขับและเพลาตามจะหมุนด้วยความเร็วคงที่เท่ากันตลอด การส่งกำลังจึงเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาครับ หัวเพลาจึงต้องมีบู๊ทหัวเพลาที่คอยป้องกันไม่ให้ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้ากั้นกลางระหว่างหัวเพลานอกและใน ซึ่งแต่เดิมมีพื้นที่สัมผัสก็ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีสิ่งสกปรกที่ไม่พึงประสงค์เข้าคลุกวงในล่ะก็  (แล้วละเลยไม่รีบเปลี่ยนล่ะก็)  โอกาสที่หัวเพลานั้นจะชำรุดก่อนวัยอันควรมี
ค่อนข้างสูงเลยล่ะครับ และมันก็ไม่ใช่ราคาถูกๆ เสียด้วย

ก็อย่างที่ “นาย T” ได้เกริ่นไปแล้วนั้น เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ปกป้องหัวเพลาด้วยการกันไม่ให้สิ่งสกปรกต่างๆ เข้ากล้ำกลาย  เพราะนั่นคือการบั่นทอนอายุการใช้งานของหัวเพลาอย่างดีเลยล่ะครับ ดังนั้นถ้าหากดูแลยางหุ้มเพลาดีๆ ก็จะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้หัวเพลาทนทานขึ้นด้วยแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องอาศัยพฤติกรรมของคนขับร่วมด้วย  ไม่ว่าจะเป็นการออกตัวหรือเลี้ยวอย่างรุนแรง  เหล่านี้ก็ล้วนแต่ทำให้หัวเพลาสึกหรอเร็วกว่าเดิมได้ทั้งนั้น   ว่าแล้วก็ไปดูกันดีกว่าว่าในการตรวจเช็คสภาพของยางหุ้มเพลานั้น ต้องทำอย่างไรกันบ้าง ?

 
ถ้าให้ แนะนำ การเข้าศูนย์บริการหรืออู่ที่มีฮอยสท์จะง่ายกว่า เพราะตัวฮอยสท์จะแน่นหนาและช่วยให้การตรวจเช็คนั้นรวดเร็วกว่าครับ หลังจากที่ประจำบนฮอยสท์ที่ยกจนสูงพอประมาณเรียบร้อยแล้ว   ก็ให้ชำเลืองไปที่บริเวณหลังดุมล้อหน้าได้เลยครับ เราก็จะเห็นยางหุ้มเพลาสีดำๆ  รูปทรงโคนเป็นหยักๆ เกาะอยู่ที่หลังดุมล้อ ซึ่งหากยางหุ้มเพลายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ก็จะมีเพียงคราบฝุ่นเกาะอยู่ที่โดยรอบเท่านั้น แต่หากมีคราบเยิ้มๆ ของจารบีติดมาด้วยล่ะก็ มีแววที่จะได้เสียเงินแล้วล่ะ

แต่เพื่อความชัวร์ให้ลองหมุนล้อโดยรอบ  ซึ่งก็จะรวมไปถึงเข็มขัดรัดปลายยางหุ้มเพลาทั้ง 2 ด้านด้วย เพราะถ้าหากขาดหรือบาดยางหุ้มเพลาล่ะก็  อาจมีสิทธิ์ที่สิ่งสกปรกจะเข้าสู่หัวเพลาและมีจาระบีด้านในจะเล็ดรอดออกในไม่ช้า ตามมาการหักเลี้ยวล้อไปทางซ้ายและขวา ก็เพื่อดูรอยปริของยางหุ้มเพลา ซึ่งบางทีอาจมองไม่เห็นหากไม่หักเลี้ยว จากนั้นก็มาหมุนให้ครบรอบเพื่อตรวจเช็ครอยปริหรือขาด ซึ่งหากตรวจพบแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรจะรีบเปลี่ยนในทันที เพราะการปริแม้จะเพียงเล็กน้อย ก็สามารถที่จะดันจาระบีภายในให้ออกมาได้แล้ว  ซึ่งนั่นก็หมายถึงการรับเอาสิ่งสกปรกเข้าไปทำร้ายชิ้นส่วนต่างๆ ในหัวเพลาได้ด้วยเช่นกัน

ลางบอกเหตุอีกอย่างก็คือ คราบจาระบีบริเวณขอบล้อด้านใน  ซึ่งถ้าถึงขั้นนั้นแล้วล่ะก็ แนะนำว่าควรจะรีบเปลี่ยนยางหุ้มเพลาโดยด่วนเลยครับ เพราะในขณะที่ล้อรถหมุนนั้น จาระบีที่ทำหน้าที่ลดแรงเสียดทานและการเสียดสีของโลหะภายในหัวเพลานั้นจะถูกเหวี่ยงอยู่ตลอด  ในกรณีที่ยางหุ้มเพลายังกักเก็บไว้ได้ดี ปัญหาก็มักจะไม่ค่อยเกิด แต่เมื่อใดที่ยางหุ้มเพลาเริ่มปริ จาระบีก็มีโอกาสที่จะเล็ดรอดออกสู่ภายนอกได้   นั่นหมายความว่าโลหะจะได้กระทบกระทั่งกันเองโดยไม่มีตัวกลางคอยห้ามปราม  แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือจะเป็นการเปิดโอกาสให้สิ่งสกปรกต่างๆ เข้าร่วมวงด้วยนั่นเองครับ ค่ายางหุ้มเพลา (แท้ๆ) กับค่าแรงที่เปลี่ยนนั้น ยังไงก็ถูกกว่าเปลี่ยนหัวเพลา

บทความจาก E-toyotaclub.com

 #ของแต่งรถนำเข้า #ของแต่งharrier #ของแต่งprado #ของแต่งestima #ของแต่งalphard #ของแต่งvellfire #ของแต่งalphardestima #godtowathailand

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้